วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จุดมุ่งหมายของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

จุดมุ่งหมายของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
                   การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนจุดมุ่งหมายพื้นฐานสองประการ ประการแรก คือ การวัดและประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียน และการเรียนรู้ของผู้เรียนในระหว่างการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง บันทึก วิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูล แล้วนำมาใช้ในการส่งเสริมหรือปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของครู การวัดและประเมินผลกับการสอนจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดการเรียนการสอนก็ขาดประสิทธิภาพ การประเมินระหว่างการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เช่นนี้เป็นการวัดและประเมินผลย่อย (Formative assessment) ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทุกวัน เป็นการประเมินเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุง จึงเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนา ในการเก็บข้อมูลผู้สอนต้องใช้วิธีการและเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย เช่น  การสังเกต  การซักถาม  การระดมความคิดเห็นเพื่อให้ได้มติข้อสรุปของประเด็นที่กำหนด  การใช้แฟ้มสะสมงาน  การใช้ภาระงานที่เน้นการปฏิบัติ การประเมินความรู้เดิม การให้ผู้เรียนประเมินตนเอง การให้เพื่อนประเมินเพื่อน  และการใช้เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics) สิ่งสำคัญที่สุดในการประเมินเพื่อพัฒนา คือ การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนในลักษณะคำแนะนำที่เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ทำให้การเรียนรู้พอกพูน  แก้ไขความคิด ความเข้าใจเดิมที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการให้ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมายและพัฒนาตนได้
                   จุดมุ่งหมายประการที่สอง คือ การวัดและประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน เป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ (Summative assessment) ซึ่งมีหลายระดับ ได้แก่ เมื่อเรียนจบหน่วยการเรียน
จบรายวิชาเพื่อตัดสินให้คะแนนหรือให้ระดับผลการเรียน ให้การรับรองความรู้ความสามารถของผู้เรียนว่าผ่านรายวิชาหรือไม่ ควรได้รับการเลื่อนชั้นหรือไม่ หรือสามารถจบหลักสูตรหรือไม่ ในการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนที่ดีต้องให้โอกาสผู้เรียนแสดงออกซึ่งความรู้ความสามารถด้วยวิธีการที่หลากหลายและพิจารณาตัดสินบนพื้นฐานของเกณฑ์ผลการปฏิบัติมากกว่าใช้เปรียบเทียบระหว่างนักเรียน  

 การกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา
                   การจัดการศึกษาในปัจจุบันนอกจากให้ทั่วถึงแล้วยังมุ่งเน้นคุณภาพด้วย ผู้ปกครอง สังคมและรัฐต้องการเห็นหลักฐานอันเป็นผลมาจากการจัดการศึกษา นั่นคือ คุณภาพของผู้เรียนที่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร หน่วยงานที่รับผิดชอบนับตั้งแต่สถานศึกษา ต้นสังกัด หน่วยงานระดับชาติ ที่ได้รับมอบหมาย จึงมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนตามความคาดหวังของหลักสูตร ดังนั้นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ จึงกำหนดให้มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้          ใน  ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับชาติ ทุกระดับ    มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกันคือ ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อนำผลการประเมินมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
¨     การประเมินระดับชั้นเรียน
                   เป็นการวัดและประเมินผลที่อยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้เรียนและตัดสินผลการเรียนในรายวิชา/กิจกรรมที่ตนสอน ในการประเมินเพื่อพัฒนา ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นเป้าหมายในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การซักถาม การสังเกต  การตรวจการบ้าน การแสดงออกในการปฏิบัติ ผลงาน การแสดงกริยาอาการต่างๆ ของผู้เรียน ตลอดเวลาที่จัดกิจกรรม เพื่อดูว่าบรรลุตัวชี้วัดหรือมีแนวโน้มว่าจะบรรลุตัวชี้วัดเพียงใด แล้วแก้ไขข้อบกพร่องเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
                   การประเมินเพื่อตัดสินเป็นการตรวจสอบ ณ จุดที่กำหนดตัดสินว่า ผู้เรียนมีผลอันเกิดจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือไม่และมากน้อยเพียงใด  ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บคะแนนของหน่วยการเรียนรู้ หรือของการประเมินผลกลางภาคหรือปลายภาคตามรูปแบบการประเมินที่สถานศึกษากำหนด ผลการประเมินนอกจากจะให้เป็นคะแนนหรือระดับผลการเรียนแก่ผู้เรียนแล้ว ต้องนำมาเป็นข้อมูลใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไปอีกด้วย
¨     การประเมินระดับสถานศึกษา
                   เป็นการตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนเป็นรายปี/รายภาค ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน  คุณลักษณะอันพึงประสงค์และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และเป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษาว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายหรือไม่  ผู้เรียนมีสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาในด้านใด  รวมทั้งสามารถนำผลการเรียนของผู้เรียนในสถานศึกษาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับชาติและระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผลการประเมินระดับสถานศึกษาจะเป็นข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการปรับปรุงนโยบาย  หลักสูตร โครงการ หรือวิธีการจัดการเรียนการสอน  ตลอดจนเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา และ           การรายงานผลการจัดการศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผู้ปกครองและชุมชน 
¨     การประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา
                   เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา ตามภาระความรับผิดชอบ  สามารถดำเนินการโดยประเมินคุณภาพของผู้เรียนด้วยวิธีการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานที่จัดทำและดำเนินการโดยเขตพื้นที่การศึกษา หรือด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและ / หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง    นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินการได้ด้วยการตรวจสอบข้อมูลจากการประเมินระดับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา



¨     การประเมินระดับชาติ
                   เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับชาติ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓  ชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เข้ารับการประเมิน ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนยกระดับคุณภาพ การจัดการศึกษา  ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ
                   ข้อมูลการประเมินในระดับต่างๆ ข้างต้น  เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาในการตรวจสอบ ทบทวน พัฒนาคุณภาพผู้เรียน  ถือเป็นภาระความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่จะต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือ ปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคลที่จำแนกตามสภาพปัญหาและความต้องการ ได้แก่  กลุ่มผู้เรียนทั่วไป กลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ  กลุ่มผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ  กลุ่มผู้เรียนที่มีปัญหาด้านวินัยและพฤติกรรม กลุ่มผู้เรียนที่ปฏิเสธโรงเรียน  กลุ่มผู้เรียนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม  กลุ่มพิการทางร่างกายและสติปัญญา  เป็นต้น ข้อมูลจากการประเมินจึงเป็นหัวใจของสถานศึกษาในการดำเนินการช่วยเหลือผู้เรียนได้ทันท่วงที  อันเป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการเรียน

การจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา       
                   สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา จะต้องจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้อง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เป็นข้อกำหนดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกัน
                   ระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาเป็นกรอบภาระงานและแนวปฏิบัติด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับการเรียนรู้เป็นกระบวนการเดียวกัน  สาระของระเบียบดังกล่าวกำหนดบนพื้นฐานของนโยบายด้านการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา  หลักการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักวิชา  หลักเกณฑ์การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑  กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติที่สถานศึกษากำหนดเพิ่มเติม อันจะสะท้อนคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติงานของสถานศึกษาที่จะช่วยสร้างความมั่นใจในกระบวนการดำเนินงานและสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามเป้าหมายการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
                   หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑  กำหนดว่าการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียนและตัดสินว่าผู้เรียนมีความรู้ ทักษะความสามารถ คุณลักษณะอันพึงประสงค์  อันเป็นผลมาจากการเรียนการสอนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัดในระดับใด  สามารถที่จะได้รับการเลื่อนชั้นเรียน หรือจบการศึกษาได้หรือไม่  สถานศึกษาในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาจะต้องจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษาให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เป็นข้อกำหนดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยควรมีสาระต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย 
                   ๑. การตัดสินผลการเรียน  
                   ๒. การให้ระดับผลการเรียน
                   ๓.  การรายงานผลการเรียน  
                   ๔.  เกณฑ์การจบการศึกษา                           
                   ๕.  เอกสารหลักฐานการศึกษา 
                   ๖.  การเทียบโอนผลการเรียน 
                   ๗. การประเมินคุณภาพผู้เรียน 

 การจัดการระบบงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้
                   การจัดการระบบงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษา ครอบคลุมงาน ๒ ส่วน ได้แก่ งานวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และงานทะเบียน  สถานศึกษาควรกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละงาน  สำหรับสถานศึกษาขนาดเล็กอาจรวมงานทั้งสองและมอบหมายผู้รับผิดชอบคนเดียว
                   งานวัดและประเมินผลการเรียนรู้ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษา   ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวัดและประเมินผล    การเรียนรู้กับผู้สอนและผู้เรียน  ตลอดจนดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างเสริมความเข้มแข็งในเทคนิควิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้บุคลากรของสถานศึกษา  
                   งานทะเบียน รับผิดชอบด้านเอกสารหลักฐานการศึกษา  เอกสารการประเมินผลการจัดทำ จัดเก็บและการออกเอกสารหลักฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ  เป็นต้น
                   ภาระงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ ในสถานศึกษานับตั้งแต่ระดับนโยบายในการกำหนดนโยบายการวัดผล  การจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา  เพื่อให้บุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ และยังเกี่ยวข้องกับผู้เรียนทุกคนตั้งแต่เข้าเรียนจนจบการศึกษาและออกจากสถานศึกษา  จึงจำเป็นที่สถานศึกษาต้องวิเคราะห์ภาระงาน  กำหนดกระบวนการทำงานและผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจนเหมาะสม แผนภาพที่ ๑.๑ นำเสนอ
การบริหารการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษาที่กำหนดขึ้นโดยนำนโยบายการจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ตลอดจนหลักการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาวิเคราะห์ภาระงาน และตารางที่ ๑.๑ แสดงถึงการมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้แก่บุคลากรฝ่ายต่างๆ ของสถานศึกษารับผิดชอบ
                   การดำเนินงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่เป็นระบบ  จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา  นอกจากนี้ การดำเนินงานวัดและประเมินผลการเรียนรู้   เป็นงานที่ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการวิชาการและหลักธรรมาภิบาล สถานศึกษาต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย     มีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง  รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษา  ขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษามีส่วนรับผิดชอบ  สำหรับสถานศึกษาขนาดเล็กคณะกรรมการต่างๆ อาจแต่งตั้งตามความเหมาะสม

ตารางที่ ๑.๑     แสดงภารกิจการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของบุคลากรฝ่ายต่างๆ              
                             

ผู้ปฏิบัติ
บทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
๑. คณะกรรมการ
     สถานศึกษา
     ขั้นพื้นฐาน
       ๑.๑ ให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษา และระเบียบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา
       ๑.๒ ให้ความเห็นชอบต่อเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดและประเมิน   
               - การเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่ม
                - ความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
                - คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา
                - กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
       ๑.๓ ให้ความเห็นชอบกระบวนการและวิธีการสอนซ่อมเสริมการแก้ไขผลการเรียนและอื่นๆ
       ๑.๔ กำกับ ติดตามการดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามกลุ่มสาระ การเรียนรู้ การพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน   การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
       ๑.๕ กำกับ ติดตาม การวัดและประเมินผล และการตัดสินผลการเรียน
๒. คณะกรรมการ
      บริหารหลักสูตร
      และวิชาการของ
      สถานศึกษา
       ๒.๑ กำหนดระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา
       ๒.๒ กำหนดแผนการประเมินผลการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางและสาระเพิ่มเติมของรายวิชาต่างๆ ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ 
โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้และจัดทำรายวิชาพร้อมเกณฑ์การประเมิน
       ๒.๓ กำหนดสิ่งที่ต้องการประเมินในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน           ของสถานศึกษาพร้อมเกณฑ์การประเมินและแนวทางการปรับปรุงแก้ไขผู้เรียน
       ๒.๔ กำหนดการทบทวนการพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
       ๒.๕ ให้ข้อเสนอแนะ ข้อหารือเกี่ยวกับวิธีการเทียบโอนผลการเรียน
ให้เป็นไปตามหลักการและแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ         




ผู้ปฏิบัติ
บทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
๓. คณะอนุกรรมการ
      กลุ่มสาระการเรียนรู้ 
      และกิจกรรมพัฒนา
      ผู้เรียน
       ๓.๑ กำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ
การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนพร้อมแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
       ๓.๒ สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้และตัดสินผลการเรียนตามแนวทางที่กำหนดไว้
       ๓.๓ พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้รายปี/รายภาคและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
๔. คณะกรรมการพัฒนา
      และประเมินการอ่าน
      คิดวิเคราะห์และเขียน
       ๔.๑ กำหนดแนวทางในการพัฒนาและการประเมินความสามารถ
การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนของผู้เรียน
       ๔.๒ ดำเนินการประเมินความสามารถการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
       ๔.๓ ตัดสินผลการพัฒนาความสามารถการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน           ของผู้เรียนรายปี/รายภาคและการจบการศึกษาแต่ละระดับ
๕. คณะกรรมการพัฒนา
      และประเมิน
      คุณลักษณะ                 
      อันพึงประสงค์               
      ของสถานศึกษา
       ๕.๑ กำหนดแนวทางการพัฒนา แนวทางการประเมินเกณฑ์การประเมิน และแนวทางการปรับปรุงแก้ไขคุณลักษณะอันพึงประสงค์
       ๕.๒ พิจารณาตัดสินผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รายปี/รายภาคและการจบการศึกษาแต่ละระดับ
       ๕.๓ จัดระบบการปรับปรุงแก้ไขคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยวิธีการอันเหมาะสมและส่งต่อข้อมูลเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
๖. คณะกรรมการ
      เทียบโอนผลการเรียน
       ๖.๑ จัดทำสาระ เครื่องมือ และวิธีการเทียบโอนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนเข้าสู่การศึกษาในระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน (สิงหาคม ๒๕๔๙)
       ๖.๒ ดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนให้กับผู้เรียนที่ร้องขอ
       ๖.๓ ประมวลผลและตัดสินผลการเทียบโอน
       ๖.๔ เสนอผลการเทียบโอนต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษาให้ความเห็นชอบและเสนอผู้บริหารสถานศึกษาตัดสินอนุมัติการเทียบโอน
๗. ผู้บริหารสถานศึกษา
       ๗.๑ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
       ๗.๒ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษา
       ๗.๓ อนุมัติผลการประเมินผลการเรียนรายปี/รายภาค และตัดสินอนุมัติการเลื่อนชั้นเรียน การซ้ำชั้น การจบการศึกษา
       ๗.๔ ให้คำแนะนำข้อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานแก่บุคลากรในสถานศึกษา
       ๗.๕ กำกับ ติดตามให้การดำเนินงานการวัดและประเมินผลการเรียนบรรลุเป้าหมาย
       ๗.๖ นำผลการประเมินไปจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน กำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษา


ผู้ปฏิบัติ
บทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
๘. ผู้สอน
       ๘.๑ จัดทำหน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แผนการประเมินผลการเรียนรู้ในรายวิชาที่รับผิดชอบ    
      ๘.๒ ทำการวัดและประเมินผลระหว่างเรียนควบคู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนที่กำหนดพร้อมกับปรับปรุงแก้ไขผู้เรียนที่มีข้อบกพร่อง
       ๘.๓ ประเมินตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในรายวิชาที่สอน หรือกิจกรรมที่รับผิดชอบเมื่อสิ้นสุดการเรียนรายปี/รายภาค ส่งหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
       ๘.๔ นำผลการประเมินไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน
       ๘.๕ ตรวจสอบสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
๙. งานวัดผล
       ๙.๑ ส่งเสริมพัฒนาระบบและเทคนิควิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้านต่างๆ แก่ครูและบุคลากรของสถานศึกษา
       ๙.๒ ให้คำปรึกษา ติดตาม กำกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการและแนวทางที่สถานศึกษากำหนดไว้
       ๙.๓ ตรวจสอบ กลั่นกรอง ปรับปรุงคุณภาพของวิธีการ เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของสถานศึกษา
       ๙.๔ ปฏิบัติงานร่วมกับนายทะเบียนในการรวบรวม ตรวจสอบและประมวลผลการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
๑๐. งานทะเบียน
       ๑๐.๑ ปฏิบัติงานร่วมกับครูวัดผลในการรวบรวม ตรวจสอบและบันทึกผลการประมวลข้อมูลผลการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน
       ๑๐.๒ ตรวจสอบและสรุปข้อมูลผลการเรียนของผู้เรียนรายบุคคล                แต่ละชั้นปีและเมื่อจบการศึกษา เพื่อเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์                    ให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษาให้ความเห็นชอบ และเสนอให้ผู้บริหารสถานศึกษาตัดสินและอนุมัติผลการเลื่อนชั้นเรียน และจบการศึกษาแต่ละระดับ
       ๑๐.๓ จัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษา

                  
 หมายเหตุ   ๑.  กรณีโรงเรียนขนาดเล็กที่แต่งตั้งคณะกรรมการเพียงชุดเดียว คณะกรรมการนั้นต้องปฏิบัติตามบทบาทและภารกิจข้อ ๒-๖ ให้ครบถ้วน
                                            ๒. ให้คณะกรรมการประกันคุณภาพของสถานศึกษา มีหน้าที่กำกับ ติดตาม สนับสนุน ให้เป็นไปตามระเบียบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้




 การสนับสนุนด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
      หรือหน่วยงานต้นสังกัด   
                   สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดมีบทบาทหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาในด้านต่างๆ  รวมทั้งการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรสนับสนุนการดำเนินการของสถานศึกษาดังนี้
                   ๑. การจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา
                   . การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในสถานศึกษาที่เกี่ยวกับการวัดและ ประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ และการเทียบโอนผลการเรียน
                   ๓. การส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                   . การส่งเสริมให้ครู บุคลากรในสถานศึกษามีความรู้ความเข้าใจในแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผล ตลอดจนความเข้าใจในเทคนิควิธีการวัดและประเมินผลรูปแบบต่างๆ โดยเน้นการประเมินตามสภาพจริง เช่น การประเมินการปฏิบัติงาน การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน หรือการประเมินด้วยการสื่อสารส่วนบุคคล เช่น การซักถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น 
                   . การส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาเครื่องมือ บริหารจัดการการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการจัดเก็บเอกสารหลักฐานการศึกษาอย่างเป็นระบบ
                   . การให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การจัดทำเอกสารหลักฐาน การศึกษา
                   . การประเมินคุณภาพผู้เรียนที่ดำเนินการโดยเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดและระดับชาติ
                   ๘.  อื่นๆ ตามความเหมาะสม


ศุภรัตน์ อุปถะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น