วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

การขับเคลื่อนแนวคิด “ห้องเรียนคุณภาพ” สู่การปฏิบัติของโรงเรียน

การขับเคลื่อนแนวคิด “ห้องเรียนคุณภาพ” สู่การปฏิบัติของโรงเรียน
“ห้องเรียนคุณภาพ” (The Complete Classroom/Quality Classroom) ซึ่ง เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้สถานศึกษา บริหารจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพในระดับปฏิบัติ คือ ระดับห้องเรียน(หมายถึง การจัดการเรียนการสอนระดับรายวิชา โดยครูผู้สอน  รวมทั้ง การปฏิบัติการพัฒนาหรือส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนโดยอาจารย์ประจำชั้น) โดยเชื่อว่า หากการจัดการเรียนการสอนระดับรายวิชามีคุณภาพตามเกณฑ์ห้องเรียนคุณภาพ แล้ว  สถานศึกษาแห่งนั้นก็น่าจะกลายเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพหรือมีความเป็นเลิศ(Excellence  School) ในที่สุด
จุดเน้นสำคัญของแนวคิด ห้องเรียนคุณภาพ  โดยสรุป เป็นดังนี้
1) มุ่งนำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน : จะต้องเปลี่ยน/ยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน(ผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น)
2) ให้ความสำคัญกับออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน
3) วิจัยในชั้นเรียน (CAR) : ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียนหรือเนื้อหาวิชา เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
4) ใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน
5)  สร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline): เน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม หรือคุณลักษณะ ด้วยกระบวนการเสริมแรงเชิงบวกหากพิจารณา ความเปลี่ยนแปลงระดับครูผู้สอน จะต้องมองเห็นการ
เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1) Effective Syllabus : กำหนดหน่วยการเรียนรู้/หลักสูตรระดับรายวิชาที่มีประสิทธิภาพ
2) Effective Lesson Plan : จัดทำแผนการสอน/แผนจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
3) Effective Teaching : จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย  สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน จุดประสงค์การเรียนรู้ หรือ เนื้อหาสาระ
4) Effective Assessment : วัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการประเมินตามสภาพจริงภายใต้แนวคิด “ห้องเรียนคุณภาพ” ในปีการศึกษา 2553 ซึ่งจะมีใช้หลักสูตรแกนกลาง พ.ศ.2551 ผมคิดว่า สถานศึกษาและครูทุกคนจะต้องผนวกแนวคิดนี้ เข้ากับการขับเคลื่อนหลักสูตร 2551 ซึ่งอาจพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
                1) ครูผู้สอนทุกคน จะต้องมุ่งมั่น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพในวิชาที่รับผิดชอบ  คือ
-เพิ่มระดับเกรดเฉลี่ย และ ลด ค่าการกระจายหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล
-พัฒนาให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ และมีสมรรถนะที่สำคัญ 5 ประการ(ครูประจำชั้น จะต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ในการดูแล/ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในภาพรวม)
2) ให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนรู้ที่อิงมาตรฐานชั้นปี หรือช่วงชั้น ตามที่หลักสูตร 2551 กำหนด
3) วิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดย ครูทุกคน ควรมีผลงานวิจัย หรืองานสร้างสรรค์ ที่สำคัญ ๆ  อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 รายการ(ดูประเด็นวิจัย ที่สอดคล้องกับหลักสูตร 2551 ที่.............
4) ใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน ทั้ง การสืบค้นข้อมูล องค์ความรู้  การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ในระดับรายวิชา  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านจอภาพ  หรือ การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านจอภาพ
5)  สร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline)  ควรมีการทดลองนำร่อง กระบวนการสร้างวินัยเชิงบวก ที่เน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม หรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ  สังเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูล Best Practice ในเรื่อง การสร้างวินัย หรือคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่เป็นรูปธรรม
  
            แม้ว่าหลักและวิธีคิดจะมีความชัดเจนในเป้าหมาย  แต่หากครูผู้สอนที่มีอยู่ไม่รู้หลักวิธีการปฏิบัติให้เกิดผลที่สอดรับกัน  ก็เป็นการยากที่ห้องเรียนคุณภาพจะเกิดขึ้นได้  อาจเป็นเพียงนโยบายที่สวยหรูที่สุดสำหรับทศวรรษนี้ก็ได้  สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างห้องเรียนคุณภาพก็คือ  ทำอย่างไรให้ครูที่เป็นผู้ปฏิบัติและเป็นผู้จัดการเรียนการสอนได้มีแนวทางที่ถูกต้อง  ง่าย  เป็นธรรมชาติ  มีความสุขกับการทำงาน 

หลักวิธีการปฏิบัติของครู

                   ครู  ในฐานะเป็นผู้บริหารจัดการรายวิชา (Course Manager) เมื่อได้รับมอบหมายให้รับสาระวิชาใด ๆ ก็จะบริหารจัดการรายวิชานั้นให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  มีประสิทธิผลคือผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐานและผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร  จึงเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญที่สุดต่อการทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ  ครูจึงต้องมีจังหวะก้าวเดินที่งดงาม  มั่นคงและมีคุณค่า การไม่เดินตามจังหวะหรือเดินผิดก้าวย่อมหมายถึงความผิดพลาดและล้มเหลว  การจัดการเรียนการสอนครูเกิดจากการวางแผน  การเดินตามแผนที่มีกำหนดระยะเวลาความสำเร็จไว้อย่างชัดเจน  ถือว่าเป็นงานวิจัยเชิงทดลองทีมีคุณค่าและเป็นงานวิชาชีพ  ทางเดินวิชาชีพควรเดินด้วย 4 ก้าวคุณภาพ  มีดังนี้

                ก้าวที่ 1  กำหนดหน่วยการเรียนรู้สาระรายวิชา (Course Syllabus)
              บอกการเป็นนักวางแผนชั้นครู
               การกำหนดหน่วยการเรียนรู้ (Syllabus) เป็นงานวางแผน  ที่ครูต้องวางแผนด้วยตนเองต่อบริบทที่มีอยู่จริง  คือ  หลักสูตร  นักเรียน  วิถีชีวิตท้องถิ่น  ตลอดจนทรัพยากรการบริหารอื่น ๆ  ซึ่งต้องดำเนินการให้สมบูรณ์ก่อนปีการศึกษาใหม่จะเริ่มขึ้น  เพื่อจะได้ใช้เป็นแผนที่เดินทาง (Roadmap) ประจำตัวตลอดปี

          หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยกลุ่มสาระต่าง ๆ และแต่ละสาระวิชาจะมาสิ้นสุดที่ คำอธิบายรายวิชา” (Course Description) หมายถึง  การพรรณนาขอบข่ายสาระของวิชานั้นตามมาตรฐานกำหนดไว้   คำอธิบายรายวิชา ก็คือ หลักสูตร  ที่ครูจะนำไปวางแผนบริหารจัดการ (Course Management)           

          รูปแบบและองค์ประกอบของหน่วยการเรียนรู้  โดยทั่วไปประกอบด้วย ข้อมูลผู้สอน คำอธิบายรายวิชา  จุดมุ่งหมาย (วัตถุประสงค์)  หัวข้อเรื่องที่จะสอนหรือหน่วยการเรียนรู้  วันเดือนปี จำนวนสัปดาห์หรือชั่วโมงที่ต้องใช้  กิจกรรมการเรียนรู้  สื่อ  หนังสือคู่มือต่าง ๆ การวัดและประเมินผลและอื่นๆ 

          การกำหนดวันเวลาและเนื้อหา ให้เป็นไปตามปฏิทินวันทำการปกติของทางราชการ  ของ สพท.ของโรงเรียน  ที่เว้นวันหยุดต่าง ๆ  วันสำคัญทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น  และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะมีความสำคัญเกิดขึ้นเป็นต้น  ย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติของท้องถิ่นและระดับการศึกษา  เวลาตลอดทั้งปีการศึกษา  ประมาณ  200-230 วัน หรือ 40 สัปดาห์ ดังนี้

ระดับชั้นประถมศึกษา  โดยปกติจะพบครูได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน คือ
-  การสอนประจำชั้น  โดยครูได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นชั้นเรียน บทบาทครูจะมีความแตกต่างจากครูที่ต้องรับผิดชอบรายวิชา  เพราะต้องรับผิดชอบทั้งชั้นเรียนและสอนทุกกลุ่มสาระ  กรณีอย่างนี้  ครูจึงอยู่ในบทบาทเป็น ผู้บริหารจัดการชั้นเรียน” (Class Manager)   
     หน่วยการเรียนรู้ที่กำหนดต้องเป็น แบบบูรณาการ  คือการรวมทุกสาระมาจัดไว้เรียนร่วมกัน  ครูจะต้องนำคำอธิบายรายวิชาและมาตรฐานการเรียนรู้จากทุกสาระ  มากำหนดเป็นหน่วยแบบบูรณาการหน่วยต่าง ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตามบริบทของชั้นเรียนนั้น ๆ 
     การจัดทำหน่วยการเรียนรู้ของครูประจำชั้นนี้จึงมีความยุ่งยากซับซ้อน  ครูต้องมีความรู้ความเช้าใจและทักษะในการบูรณาหลายสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกัน  มีการเชื่อมโยงแนวคิด (Mind Map) และกิจกรรมไปยังสาระต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน

การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline) เป็นวิธีการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มีเหตุมาจากการกระทำที่ต้องการให้ผู้อื่นสนใจ อาจเกิดจากพันธุกรรม สภาพแวดล้อมทางสังคม หรือความต้องการทางจิตใจ เมื่อครูหรือผู้ปกครองต้องการหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีการที่เห็นผลได้เร็ว สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ทันที แต่วิธีการลงโทษนี้จะไม่ได้ผลในระยะยาว วิธีควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีกวิธีหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับการลงโทษ คือการสร้างวินัยเชิงบวก
     การลงโทษ คือ การกระทำต่อผู้อื่นที่ทำผิดระเบียบหรือมีความประพฤติไม่เหมาะสม ซึ่งการลงโทษจะมีผล 3 ทาง คือ ลงโทษต่อร่างกาย ลงโทษต่อจิตใจ ลงโทษต่อร่างกายและจิตใจ
การสร้างวินัย คือ กระบวนการทำให้มีพฤติกรรม หรือแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์
ทางบวก คือ ใช้วิธีการประนีประนอม แบบมีส่วนร่วม มีผลดีในระยะยาว
ทางลบ คือ ใช้วิธีการรุนแรง ลงโทษ มีผลหยุดพฤติกรรมในระยะเวลาสั้นๆ

ห้องเรียนคุณภาพ   5  เคล็ดลับ* การจัดการเรียนรู้ให้สนุกสนาน

1. ให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วม (Involve Everyone)  นักเรียนบางคนถูกลืม เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้พูดในชั้น ไม่เคยถูกเรียกหา และทำการบ้านไม่เสร็จ นี่เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของแต่ละคนและทุกคนในชั้น มันมีความสนุกสนานในการได้มีส่วนร่วมมากกว่าการให้นั่งอยู่กับที่ ถ้านักเรียนรู้สึกร่วมในงานที่เรียน เขาจะรู้สึกสนุกและงานสำเร็จ
2. ใช้การเรียนทั้งกาย (Involve the Entire Body)   การที่จะทำการเรียนรู้สนุกต้องให้เขาได้ใช้ทั้งร่างกาย ให้นักเรียนได้เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ห้อง ได้เล่นเกมที่สนุก ถ้าคุณต้องการบรรยายก็ให้ใช้สัก 5 นาทีในการได้ยืนแล้วยกมือยกเท้า การเคลื่อนไหวรอบ ๆ เป็นเรื่องง่าย ๆ 
3. ใช้การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement)  เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งที่เพิ่มความสนุกให้แก่ชั้นเรียน คือการเสริมแรงทางบวก ชมแม้จะเป็นความดีเล็กน้อย ไม่สนใจพฤติกรรมที่ไม่ดี สร้างความสำเร็จให้นักเรียน มองในแง่บวกเสมอ หาทางออกให้ พวกเขาจะพบความสำเร็จได้มากกว่า ถ้าเด็ก ๆ มีความรู้สึกสบาย ๆ ไม่เครียด
4. ใช้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม (Working in Groups) การให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มตามโครงงานเป็นที่สร้างความสนุกสนานให้แก่เด็ก ถ้าปล่อยให้เขาพูดคุยและหารือกันในกลุ่มเพื่อหาคำตอบ เด็ก ๆ ทำร่วมกัน 3 หรือ 4 คน ไม่เพียงแต่จะสนุกกับการเปลี่ยนแปลงของวิธีคิดแล้ว แต่ยังได้เรียนรู้จากกันและกัน การเรียนรู้เป็นกลุ่มจึงเป็นการยิงนกสองตัวด้วยกระสุนนัดเดียว
5. ใช้วิธีการหลากหลายแปลกใหม่ (School Day Variety)       ไม่มีการเรียนใดจะสนุกหากมีการเรียนแบบเดิม ๆ วันแล้ววันเล่า ให้เปลี่ยนตารางและเพิ่มความแปลกใหม่ในชั้น นักเรียนต่างก็รักที่จะใช้ความพยายามกับสิ่งใหม่ ๆ จัดให้เด็กสามารถทำใบงานให้เสร็จในวันเดียว และวันต่อไปให้มีการศึกษาภาคนอกห้องเรียน การใช้สื่อต่าง ๆ มีสีสัน เคลื่อนไหวได้ เป็นสิ่งที่ดีในการสร้างความหลากหลาย มันช่วยให้นักเรียนได้ละเว้นจากการเรียนแบบเก่า ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น